8 ลำดับขั้นตอน งานแต่งงานเช้า

 

ประเพณีการแต่งงานแบบไทย เป็นพิธีการขั้นตอนที่มีรายละเอียดที่งดงาม ด้วยยุคสมัยทำให้พิธีการอาจถูกปรับเปลี่ยนไปบ้าง มีการรวบรัดให้การดำเนินพิธีต่างๆ กระชับมากขึ้น จึงนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานในวันเดียวกัน ในปัจจุบันมีคู่บ่าวสาวน้อยคู่นักที่จะรู้จักหรือศึกษาลำดับพิธี  Box Wedding มาสรุปพิธีการแต่งงานของไทย ให้รวบรัดเพียง 8 ขั้นตอน พร้อมเทคนิคเล็กๆ ที่จะชวนคู่บ่าวสาวสมัยใหม่มาศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถดำเนินพิธีการแต่งงานในช่วงเช้าให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น จะมีขั้นตอนอะไรบ้างนั้น เราไปเริ่มกันเลยค่ะ    

สำหรับพิธีในช่วงเช้าของการแต่งงาน ส่วนใหญ่จะเริ่มตามฤกษ์ยามงามดีของแต่ละคู่ โดยเป็นช่วงของการจัดพิธีทางศาสนาพุทธเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจะเป็นพิธีแห่ขันหมาก ซึ่งมักจะเริ่มในเวลา 09.19 น. (หรือตามฤกษ์ยามงามดีของแต่ละคู่) ด้วยความเชื่อที่ว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล จะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า  โดยมีขั้นตอนของพิธีการแต่งงานในช่วงเช้า ดังนี้ …

Cr. ภาพ Jakawin Photography

1.พิธีสงฆ์

พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล นิยมนิมนต์พระ 9 รูปนะคะ เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว คู่บ่าวสาวจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พิธีกรนำไหว้อาราธนาศีล5 และรับศีล5 สวดมนต์ และตักบาตร (หากเป็นช่วงสายหน่อย จะถวายสังฆทานแล้วตามด้วยถวายภัตตาหารเพล) โดยจะใช้ทัพพีและขันใส่ข้าวใบเดียวกัน พระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้นคู่บ่าวสาวกรวดน้ำ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้เพิ่มความเป็นสิริมงคลจึงเป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์

 

 

Cr. ภาพ Jakawin Photography

2. ขบวนแห่ขันหมาก

ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งในวันเดียว ดังนั้น จึงมีการรวบรัดเอา ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่ง เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะที่มีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท และเมื่อตั้งขบวนขันหมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะมีขบวนกลองยาวนำหน้าเพื่อสร้างความครึกครื้น ตามด้วยขบวนขันหมากเอก-ขันหมากโท โดยขั้นตอนนี้ต้องให้เจ้าสาวเตรียมตัวรอขันหมากบนบ้าน ส่วนเจ้าบ่าวก็จะไปบริเวณที่จัดขบวนขันหมากเตรียมตัวรอฤกษ์เคลื่อนขบวนมาบ้านเจ้าสาว เมื่อเริ่มเคลื่อนขบวน จะมีการโห่ร้องรับกัน 3 ครั้ง และโห่ร้องรับอีก 3 ครั้ง เมื่อมาถึงแล้ว จากนั้นเมื่อมาถึงบ้านเจ้าสาว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปต้อนรับพร้อมกับให้เด็กหญิงถือพานหมากที่จัดเป็นจำนวนคู่ไว้สำหรับไว้ต้อนรับ จากนั้นขบวนขันหมากก็จะเตรียมตัวเข้าไปในบ้าน ซึ่งจะต้องผ่านด่าน ประตูทั้ง 3 คือ ประตูนาก ประตูเงิน และประตูทอง โดยเจ้าบ่าวจะเตรียมซองไว้ เพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนขอผ่านประตู หลังจากนี้ถือเป็นพิธีการช่วงต่อไป

 

Cr. ภาพ Box Wedding

3.กั้นประตู

เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายเจ้าสาว ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จะเป็นผู้แทนเจรจากับเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว (ต้องเป็นผู้สมรสแล้ว ไม่หย่า ไม่เป็นหม้าย)จากนั้นรับพานขันหมาก พานสินสอด แหวนหมั้น วางไว้ ณ จุดประกอบพิธี บรรดาญาติของฝ่ายเจ้าสาวจะมาช่วยกันกั้นประตูเงินประตูทอง เพื่อเรียกค่าเปิดทางจากฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนผู้ที่กั้นประตูจะถือสายสร้อยทอง สายสร้อยเงิน หรือผ้าแพรคนละด้าน เพื่อกั้นไม่ให้ขบวนผ่านไปได้ ซึ่งถ้าอิงประเพณีหลักดั้งเดิมก็จะมีประตูหลัก ๆ 3 ประตู คือ ประตูนาก ประตูเงิน ประตูทอง (จะเรียกประตูชัย ประตูเงิน และประตูทองก็ได้เช่นกัน) โดยฝ่ายชายจะต้องเจรจาขอผ่านทาง และต้องให้ซองใส่เงิน ให้แก่ผู้กั้นประตู หลังจากผ่านประตูทุกด่านเรียบร้อยแล้ว จะมีเด็กหญิงญาติของฝ่ายหญิงเตรียมล้างเท้าให้กับเจ้าบ่าว จากนั้นฝ่ายหญิงจะจัดเด็กผู้หญิงถือพานหมากพลูไว้รอเชิญขบวนขันหมากขึ้นเรือน ซึ่งเจ้าบ่าวต้องเตรียมซองเงินไว้เป็นรางวัลด้วยเช่นกัน

 

Cr. ภาพ Box Wedding

4.มอบสินสอด

เมื่อฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีการต่อไปก็คือการนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงยินยอมยกลูกสาวให้ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด และจัดวางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง (อย่าลืมเตรียมผ้าสีมงคลสำหรับรวบห่อสินสอด ต้องเป็นผืนใหญ่เพื่อให้แม่เจ้าสาวแบกขึ้นบ่าได้ และตอนแบกขึ้นอย่าลืมพูดเอาเคล็ดว่าห่อนี้หนัก คงมีเงินทองมากมาย เคล็ดลับเพื่อให้คู่บ่าวสาวมีเงินงอกเงย ให้ใส่สินสอดเกินจำนวนไว้เล็กน้อย แล้วทำทีเป็นตรวจนับตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเคล็ดว่าคู่บ่าวสาวอยู่ด้วยต่อไปเรื่อย ๆ จะมีเงินงอกเงย) ทั้งนี้ หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด ต่อมาแม่ของเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี

 

Cr. ภาพ Jakawin Photography

5.สวมแหวน

หลังจากที่ได้นับสินสอดกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาฤกษ์อันเป็นมงคลตามที่กำหนด ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้พร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย เมื่อสวมแหวนเสร็จมักจะมีการถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก และรอเวลาที่จะประกอบพิธีสำคัญต่อไป

 

Cr. ภาพ Jakawin Photography

6. หลั่งน้ำพระพุทธมนต์

สำหรับการทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร เริ่มจากบ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้ายซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด และแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อย จากนั้น ประธานหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส และก่อนจะลุกจากที่นั่งมีความเชื่อนิดนึงว่าหากบ่าวสาวฝ่ายใดลุกยืนก่อน ฝ่ายนั้นจะได้เป็นผู้อยู่เหนืออีกคนค่ะ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงบอกให้ช่วยประคองกันลุกขึ้นแทนนะคะ

 

Cr. ภาพ Box Wedding

7. พิธีไหว้ผู้ใหญ่

พิธีรับไหว้ หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่นั้นเริ่มจาก คู่บ่าวสาวยกพานธูปเทียนแพ และผ้าไหว้ คลานไปกราบบิดามารดาก่อน ถือเป็นการฝากเนื้อฝากตัว ซึ่งผู้ใหญ่จะรับ ผ้ารับไหว้ นั้นไว้ แล้วผู้ใหญ่จะทำการรับไหว้ ด้วยซอง สิ่งของมีค่า เงินทุน สร้อยคอทองคำ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร จากนั้นจึงนำเงินรับไหว้ หรือของมีค่าใส่ลงพานไหว้ ผู้ใหญ่จะผูกข้อไม้ข้อมือด้วยสายสิญจน์เพื่อเป็นการรับขวัญคู่บ่าวสาว จากนั้นคู่บ่าวสาว จึงยก ของรับไหว้ ที่เตรียมไว้ ไหว้ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ เรียงตามลำดับอาวุโส เมื่อผู้ใหญ่รับไหว้แล้ว ก็จะมีการนำเงิน ทอง ของมีค่าใส่ในพานให้ หากญาติๆ จะช่วยเพิ่มทุนก็สามารถทำได้ การกราบผู้ใหญ่ หากเป็นพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่อาวุโสเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย กราบ 3 ครั้ง ส่วนญาติอื่นๆ กราบ 1 ครั้ง ไม่ต้องแบมือ

Cr. ภาพ Jakawin Photography

8. สุดท้ายนี้คือพิธีส่งตัวเข้าเรือนหอ หรือ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอนหรือพิธีปูที่นอน

ถือเป็นพิธีสำคัญในช่วงสุดท้าย (สำหรับคู่ที่มีฤกษ์ยามในช่วงเช้า หรือคู่ที่ถือฤกษ์สะดวกอยากทำพิธีให้เสร็จสิ้นในช่วงเวลาเดียวกัน) โดยผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวมาส่งตัวเข้าหอ ซึ่งเจ้าบ่าวจะมารออยู่ที่ห้องหอก่อนแล้ว ส่วนสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ที่จะมาทำพิธีปูที่นอน ก่อนที่จะพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอแล้วเจิมหน้าผาก และนำตัวเจ้าสาวเข้ามา โดยที่เจ้าสาวจะต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร และเมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นคนพามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลลูกสาวด้วย จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าวก็สามารถทำได้เช่นกัน

ส่วนพิธีร่วมเรียงเคียงหมอน หรือพิธีปูที่นอนนั้น จะเริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอ โดยพ่อแม่จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมมาช่วยปูที่นอนให้ เพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดี โดยที่ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้จะต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวเรียบร้อย แล้วจึงเข้ามาในห้องหอ เพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน ได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้า, ฟักเขียว, แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว), พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว และขันใส่น้ำฝนมาประกอบพิธีอีกด้วย ส่วนการนอนผู้ชายต้องนอนทางขวาและผู้หญิงต้องนอนทางซ้าย เพราะถือว่าสามีเป็นผู้ให้ความดูแลคุ้มครอง โดยสาเหตุที่เจ้าบ่าวนอนด้านขวาเพราะส่วนใหญ่แล้วห้องนอนของแต่ละบ้านในสมัยก่อนประตูจะอยู่ด้านขวามือ หากมีเหตุอันตรายสามีจะสามารถคุ้มครองปกป้องภรรยาของตนได้ เพราะถือว่าผู้ชายมีความแข็งแรงกว่าหญิง ควรทำหน้าที่ดูแลปกป้องนั่นเอง เท่านี้ก็เป็นอันประกอบพิธีแต่งงานช่วงเช้าเสร็จสิ้น

 

การแต่งงานแบบไทยนั้น เป็นงานพิธีที่เป็นมงคลสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อาจจะมีแตกต่างกันบ้างตามแต่ละท้องถิ่น เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาจนทุกวันนี้ ในสมัยนี้พิธีการแต่งงาน ได้ถูกตัดทอนย่อลงมาก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาพิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยสืบต่อกันมา เป็นอย่างไรบ้างคะเพื่อนๆ หลังจากที่ได้อ่าน  8 ขั้นตอนในพิธีงานแต่งงานช่วงเช้าไปแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะคะสำหรับการจัดงานแต่งงานในช่วงเช้า ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของงานแต่งงาน คือ การวางแผน ยิ่งมีเวลาวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้ามากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้มีเวลาในการเตรียมตัวมากขึ้น พอถึงวันพิธีก็จะช่วยให้แต่ละขั้นตอนผ่านลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี 

 

Comments

comments